หญิงกรุงเสี่ยง

หญิงกรุงเสี่ยง
หญิงกรุงเสี่ยงพวกหน้ามืดชอบคุกคามทางเพศบนรถโดยสาร-แท็กซี่
เอแบค เปิดผลสำรวจ
“ภัยคุกคามทางเพศหญิงเมืองกรุง” พบ
“รถโดยสาร-แท็กซี่” เสี่ยงสูงสุด
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างต่างใกล้ชิดกับเหยื่อภัยคุกคาม
โดยถูกคุกคามจากคนแปลกหน้าสูงสุด
ส่วนสถาบันการศึกษาก็เป็นพื้นที่เสี่ยงไม่น้อยหน้า
พบถูกคุกคามทางเพศจากเพื่อนร่วมโรงเรียนไม่น้อย
เตือน “วันลอยกระทง” พวกหน้ามืดจ้องลวนลามหญิง

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
จัดแถลงข่าวเรื่อง “ภัยหญิงในสังคมเมือง
อันตรายจากการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ:
กรณีศึกษาผู้หญิงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 ณ ห้องประชุม D33
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตหัวหมาก โดยมี
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์
เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน
ประธานสำนักวิจัยเอแบคโพลล์
เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง
“ภัยคุกคามทางเพศในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์:
กรณีศึกษาผู้หญิงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”
ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้หญิงอายุระหว่าง 15-49
ปี ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
จำนวนทั้งสิ้น 1,331 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 1-9
พฤศจิกายน 2548

ประธานสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า
ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คือ
ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม
กลุ่มตัวอย่างระบุถึงเหตุการณ์ที่คนใกล้ชิดถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ
คิดเป็นร้อยละ 17.2
โดยคนใกล้ชิดที่ถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุด
คือ คนใกล้ชิดที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่พักอาศัย
เช่น เพื่อนบ้าน คนในหมู่บ้าน ร้อยละ 31.3 รองลงมา
คือ คนที่ทำงานและคนในสถาบันการศึกษา/โรงเรียน
ร้อยละ 23.8 และ 22.9 ตามลำดับ ที่น่าวิตกกังวล
คือ
บุคคลภายในครอบครัวถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศถึงร้อยละ
13.7
ติดอันดับคนใกล้ชิดที่ถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุด
5 อันดับแรก

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงการถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลต่างๆ
พบว่า ถูกคุมคามจากคนแปลกหน้ามากที่สุด
คิดเป็นร้อยละ 60 รองลงมาคือ คนรัก
(ยังไม่ได้แต่งงาน) ร้อยละ 26.6
และที่น่าสังเกตคือ เพื่อนร่วมโรงเรียน/สถาบัน
มีถึงร้อยละ 14.6 ทั้งนี้ สถานที่ที่ถูกคุกคาม
ได้แก่ บนรถโดยสารประจำทาง หรือแท็กซี่ ร้อยละ
27.2 รองลงมาคือ ละแวกที่พักอาศัย ร้อยละ 24.9
และป้ายรถประจำทางหรือสถานีรถไฟ ร้อยละ 24
ส่วนเทศกาลที่เคยประสบภัยคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุดได้แก่
เทศกาลสงกรานต์ ร้อยละ 17.7 เทศกาลลอยกระทง ร้อยละ
9.6 และเทศกาลปีใหม่ ร้อยละ 9.2 อย่างไรก็ตาม
ร้อยละ 78.3 ระบุว่าไม่ขึ้นอยู่กับเทศกาลใด

“สำหรับสาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าทำให้บุคคลกระทำความผิดด้านการคุมคาม
และล่วงละเมิดทางเพศ ได้แก่
การมีสิ่งกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ
มีการแพร่ระบาดและหาซื้อได้ง่าย คิดเป็นร้อยละ
97.1 รองลงมา คือ การที่ผู้หญิงแต่งกายล่อแหลม
และแสดงกิริยาท่าทางยั่วยวนร้อยละ 95.5
และการขาดสติสัมปชัญญะ/ขาดสามัญสำนึก ร้อยละ 95.2
และอยู่ในสถานที่เสี่ยงต่ออันตรายร้อยละ 92.1
ตามลำดับ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 88.8
มีความเห็นว่าสื่อมวลชนนำเสนอเรื่องความก้าวร้าวและเรื่องทางเพศในปัจจุบันรุนแรงและชัดเจนกว่าในอดีต
ในขณะที่ ร้อยละ 54.2 เห็นว่า
สื่อมวลชนนำเสนอเนื้หาเรื่องทางเพศค่อนข้างมาก
โดยร้อยละ 77.9 ระบุว่า รับรู้ผ่านโทรทัศน์ ร้อยละ
66.2 ผ่านทางหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 49
ผ่านทางวิดีโอ/วีซีดี/ดีวีดี ร้อยละ 40
ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และร้อยละ 37.9
ผ่านทางภาพยนตร์” ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าว

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวอีกว่า
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.2 ยังระบุว่า
ไม่พอใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สอดคล้องกับความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างร้อยละ
68.9 ที่ระบุว่า การปรามปรามไม่ค่อยเข้มงวด
และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.4
ไม่มั่นใจต่อการเก็บรักษาความลับของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับเรื่อง
กรณีที่ถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ
โดยตัวอย่างร้อยละ 66.2
มีความเห็นว่าควรกำหนดบทกฎหมายลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เผยแพร่เรื่องราวของผู้เสียหาย

ศ.ดร.ศรีศักดิ์
กล่าวถึงแนวทางที่กลุ่มตัวอย่างต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหา
ได้แก่ ปรับบทลงโทษทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดให้หนักขึ้นร้อยละ
86.5 เพิ่มความเข้มงวดในการปราบปรามสื่อลามกร้อยละ
74.5 และเข้มงวดในการตรวจตราสถานที่เสี่ยงต่างๆ
ร้อยละ 72.1 ตามลำดับ
สำหรับความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อวิธีการระวังหรือป้องกันตัวจากภัยคุกคามและการละเมิดทางเพศนั้น
พบว่า ร้อยละ 76.2 ระบุว่า
ไม่เดินทางไปไหนในเวลากลางคืนถ้าไม่จำเป็น ร้อยละ
73.9 แต่งกายให้รัดกุม ร้อยละ 63.8
พยายามไม่อยู่คนเดียวหรือไปไหนมาไหนคนเดียว ร้อยละ 58.5
เพิ่มความระแวดระวังกับบุคคลรอบข้างหรือบุคคลแปลกหน้า
และร้อยละ 33.3 พกอาวุธหรืออุปกรณ์ป้องกันตัว

Leave a Reply