เซ็กส์ไม่ปลอดภัยคือ

เซ็กส์ไม่ปลอดภัยคือ
เซ็กส์ไม่ปลอดภัยคือความรุนแรงทางเพศ โดยธัญญา ใจดี
พฤศจิกายนเป็นเดือนรณรงค์ยุติ ความรุนแรงสากล ทุกปีจะมีการแถลงข่าวสถิติการข่มขืน หรือล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้สังคมตระหนักในปัญหา ช่วยกันสอดส่องไม่ให้คนที่ทำความรุนแรงลอยนวลไปได้ แต่สำหรับปีนี้ ประเด็นรณรงค์ยุติความรุนแรงทางเพศที่เอ็นจีโอและสถาบันวิชาการต่างจับมือ กันแถลงข่าวเป็นเสียงเดียวกันเมื่อ 20 พฤศจิกายนนั้น เป็นการพลิกโฉมมุมมองเกี่ยวความรุนแรงทางเพศ และพุ่งไปที่แก่นกลางของปัญหาทีเดียว นั่นคือ เซ็กส์ไม่ปลอดภัยคือความรุนแรงทางเพศ

เหตุที่เซ็กส์ไม่ปลอดภัยกับความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องเดียว กันก็เพราะเซ็กส์ไม่ปลอดภัยก่อผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางที่สุด ทั้งการตั้งท้องโดยไม่พร้อม ทำแท้งไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือถ้าคลอดออกมา ผู้หญิงเองก็เสียอนาคต โดยเฉพาะถ้าอยู่ในวัยเรียน ถ้าเด็กทารกโตขึ้นมา ก็กลายเป็นประชากรที่ไม่ได้รับการดูแลที่ดี และยิ่งกว่านั้น เซ็กส์ไม่ปลอดภัยยังทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ รวมทั้งเอดส์ ไม่ต้องพูดถึงความสูญเสียว่ายิ่งใหญ่แค่ไหน โดยเฉพาะลองคิดว่าตัวเองหรือญาติพี่น้องของเราเป็นผู้ติดเชื้อ โลกทั้งโลกเหมือนจะถล่มทลายลงมา … เพียงเพราะแค่เซ็กส์นั้นไม่ได้ป้องกัน จึงไม่ปลอดภัย

เซ็กส์ไม่ปลอดภัยยังรวมถึงการถูกละเมิดทางเพศ ถูกแอบถ่ายคลิป ถูกขู่ว่าถ้าไม่มีเซ็กส์ด้วยจะตัดสัมพันธ์ หรือตัดพ้อว่าไม่รักกันใช่ไหม เลยไม่ยอมมีเซ็กส์ด้วย

ที่ผ่านมาเราพูดกันถึงปลายเหตุของเซ็กส์ไม่ปลอดภัย และก็ไปประจานคนที่ไม่ป้องกันตัวเอง แต่ไม่เคยย้อนรอยกลับไปดูว่าอะไรคือสาเหตุ สถานการณ์แบบนี้บ่งบอกว่าสังคมเราแสนจะอับจนปัญญา แม้แต่การวิจัยค้นคว้าสาเหตุที่ทำให้คนเราไม่สามารถมีเซ็กส์ที่ป้องกันและ ปลอดภัยได้ก็แทบจะไม่มี ทั้งๆ ที่เซ็กส์ไม่ปลอดภัยเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วยเสียสุขภาพกายและใจ

ถ้าจะถามหาจำเลยกันจริงๆ แล้ว หลายภาคส่วนทีเดียวที่ต้องออกมารับผิดชอบต่อการทำให้คนไทยมีเซ็กส์ไม่ ปลอดภัย เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ที่สอนลูกๆ หลานๆ ว่าไม่ให้มีเซ็กส์ก่อนวัยอันควร แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่พ่อแม่มักสอนแค่แผนหนึ่ง ไม่เคยมีแผนสอง คือ สอนให้ลูกรู้เท่าทันเพื่อป้องกันตัวเองจากเซ็กส์ไม่ปลอดภัย นั่นอาจเป็นคำตอบสำหรับคำถามคาใจหลายคนเมื่อผลสำรวจต้นปีนี้ระบุว่าเด็กท้อง ไม่พร้อมส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียนดี สะท้อนความใสซื่อไม่ได้เรียนรู้การเอาตัวรอดเมื่อหลีกเลี่ยงการมีเซ็กส์ไม่ ได้

ยิ่งกว่านั้น พ่อแม่หลายครอบครัวกลายเป็นตัวกระพือให้เกิดเซ็กส์ไม่ปลอดภัย ด้วยความคิดว่าลูกผู้ชายไม่เสียหายอะไร เพราะไม่ท้อง จึงไม่เคยสอนลูกให้เคารพร่างกายคนอื่น และไม่เคยสอนเรื่องการรับผิดชอบต่อเรื่องเพศของตัวเอง จนไปข่มขืนหรือทำแฟนท้อง พ่อแม่จึงกลายเป็นจำเลยสังคม ฐานปิดกั้นเซ็กส์ที่ปลอดภัย

อีกหนึ่งจำเลยก็หนีไม่พ้นคุณครูทั้งหลายที่ต่อต้านถุงยาง ทั้งๆ ที่นอกจากถุงยางจะป้องกันการตั้งท้องแล้ว ยังป้องกันเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกกว่า 30 ชนิด แต่ข้อมูลนี้ก็ไม่เคยถูกบอกต่อ แถมภาพลักษณ์ถุงยางกลับถูกทำให้มัวหมองไปเสียอีก เยาวชนพกถุงยางไว้ป้องกันตัวเองและคู่กลับถูกมองเหมือนเป็นอาชญากรทำเรื่อง เลวร้าย อาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้สถิติการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเยาวชน

เซ็กส์ไม่ปลอดภัยไม่ได้เป็นปัญหาของเยาวชนเท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังไม่รู้วิธีมีเซ็กส์ปลอดภัย ในออสเตรเลียเอง เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวน่าสนใจว่า การรณรงค์กระตุ้นให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยมัวแต่ไปทำในกลุ่มเยาวชนจนหลง ลืมผู้ใหญ่ พอไปสำรวจตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็พบว่าผู้ใหญ่ก็ไม่พ้น แถมมีสัดส่วนพอๆ กับวัยรุ่น กลายเป็นว่าผู้ใหญ่เป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสเข้าถึงข้อมูลและบริการที่เป็นมิตร เช่นกัน

ในส่วนของสังคมไทย จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความคิดความเชื่อของผู้ชายมีเชื้อเอชไอวี โดยคนทำงานด้านสุขภาวะทางเพศ พบว่า ผู้ชายมีเชื้อมองว่าการที่เขาติดเชื้อก็มาจากเซ็กส์ไม่ปลอดภัย และมองหาจำเลยได้ยากเต็มที รู้เพียงแต่ว่า คือใครก็แล้วแต่ที่ทำให้เขาเชื่ออย่างจริงๆ จังๆ ว่า เป็นผู้ชายต้องเก่งเรื่องเซ็กส์ ต้องมีคู่เยอะๆ และเปลี่ยนบ่อยๆ และจะเป็นผู้ชายตัวจริงได้ต้องกล้าเสี่ยง กล้าลอง ถุงยางก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนขี้ขลาด

ข่าวที่ว่ากรมควบคุมโรคจะทำโครงการถุงยางอนามัยเข้าถึงได้ สำหรับทุกคนหรือ Condom for All อาจจะไม่ตอบโจทย์ของบ้านเรา ที่หลายฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีปริศนาบางอย่างที่ต้องค้นหาว่า อะไรทำให้คนที่มีเซ็กส์ ไม่เฉพาะผู้ชาย แต่ยังรวมถึงผู้หญิง สาวประเภทสอง และเกย์ หรือพูดง่ายๆ ว่าคนทุกเพศ ไม่ใช้ถุงยางอนามัยแม้จะวางอยู่บนหัวเตียง

ดูๆ ไปแล้ว เราทุกคนล้วนมีส่วนในความรุนแรงทางเพศกันทั้งนั้น เพราะทำให้เกิดเซ็กส์ไม่ปลอดภัย มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่บทบาท ยิ่งเป็นพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ฝ่ายนโยบาย หรือเจ้าหน้าที่ให้บริการสุขภาพทางเพศ ที่ล้วนมีอำนาจอยู่ในมือ ถ้าหลักการเรื่องสิทธิไม่แน่นพอ ก็ยิ่งจะอ้างความหวังดี และไปปิดกั้นการเรียนรู้และบริการที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันตัวเองของคน ที่มีปากมีเสียงน้อยกว่า

ประเด็นนี้ ทั้งคนทำงานเรื่องสิทธิ เรื่องความรุนแรงทางเพศและเอดส์เริ่มยอมรับว่า และพูดเป็นเสียงเดียวกันออกมาจนได้ว่า “สิทธิทางเพศ สิทธิด้านเอดส์ คือสิทธิมนุษยชน: เคารพ เข้าใจ ปลอดภัย เป็นสุข”
บทความคอลัมน์เสียงสตรี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Leave a Reply